แช่ชา 4 นาที ลูกค้าด่าพอดี ไม่ทันกิน .. จริงหรือ ??!!
นี่คือคอมเม้นต์ และคำถามยอดฮิต ในช่อง Youtube "อร่อยกับบอย" โดยเฉพาะคลิปที่เป็น ท็อปยอดวิวสูงสุด 6 แสนกว่าวิว ณ วันที่โพสต์อยู่นี้
.
ซึ่งตอนแรกๆ ผมก็รู้สึกไม่ชิน และแอบ #ปรี๊ด เหมือนกันนะครับ ว่าทำไมต้องใช้คำพูดลักษณะนี้ ทั้งที่หลายคนยังไม่เข้าใจ (แต่ตอนนี้ชินแล้วล่ะ) เลยอยากมาเฉลย และขยายความให้ฟังครับ ที่สำคัญ มันมีวิธีการจัดการ สำหรับคนที่เปิดร้านจริงๆ #ส่วนคนที่ไม่ได้เปิดร้าน ก็ถือว่าเป็นความรู้นะครับ 😉
.
เรารู้กันอยู่แล้วว่า การชงชานั้น เกือบทุกชนิด จะต้อง "แช่" ทิ้งไว้ ในน้ำร้อนอุณหภูมิที่เหมาะสมกับชาแต่ละชนิด (นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ผมจะนำมาพูดถึงในครั้งต่อๆ ไป) ส่วนจะแช่นานมากน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการให้ชานั้นมีรสชาติอย่างไร และเรานำชาไปผสมกับอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่
.
โพสต์นี้ผมขอพูดถึง "ชาเขียว" "ชาดำ" หรือว่า "ชาใบ" ชนิดปรุงแต่งก่อนนะครับ ที่เรานำมาชงชาเขียวนม ชาเย็น ชานม เมนูที่เราคุ้นเคย และเป็นเมนูขายดี ยอดฮิตตลอดกาล
.
เครื่องดื่มชาเหล่านี้ เป็นใบชาที่ถูกนำมาปรุงแต่งสี แต่งรส แต่งกลิ่นเรียบร้อยแล้ว ตามสูตรของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งโดยปกติ เรามักจะนำมันมาผสมกับ ครีมเทียม นมข้นหวาน นมสด นมข้นจืด น้ำตาล น้ำเชื่อม ตามสูตรของแต่ละคน
.
ฉะนั้น หากเราแช่ชาน้อยกว่า 4 นาที #ความเข้มข้น #ความหอม #รสชาติ ที่ออกมานั้น "มันไม่ถึง" .. มันจะจืดจาง จนไม่อร่อย โดยเฉพาะ เมื่อถูกผสมด้วยวัตถุดิบทั้งหลายข้างต้น ทั้งนมข้น นมสด สารพัด .. กลิ่นและรสชาติของชา จะถูกกลบหมด
.
#นี่ก็คืออีกคำตอบ ว่าทำไมหลายคนชงชาไม่อร่อย นอกจากอัตราส่วนของชากับน้ำ ก็ยังมีเรื่องของเวลาในการแช่นี่แหละ
* แช่ 1-3 นาที เหมาะสำหรับดื่มแบบไม่ผสมอะไรเลย หรือใส่น้ำตาลเล็กน้อย
* แช่ 4 นาทีขึ้นไป กำลังพอดี ความฝาดของชายังไม่มากนัก
* มากกว่า 4 นาที (แต่ไม่เกิน 10 นาที) ดึงรสชาติความขม ความฝาดของชาให้มากขึ้น สามารถทำได้ ชงออกมารสชาติดี บางทีลูกค้าก็ชอบมากกว่าแบบ 4 นาทีเสียอีก (แต่ลูกค้าไม่รู้หรอกว่านานแค่ไหน ลูกค้าตัดสินแค่ปลายทาง)
.
#แล้วคำที่ผมมักถูกถามหรือต่อว่า บ้าเหรอใครจะรอ .. 4 นาทีลูกค้าด่าพอดี ... มันมีวิธีการจัดการครับ
.
คุณเคยเดินเข้าร้านที่มีมาตรฐานไหมครับ .. พนักงาน หรือบาริสต้าจะบอกเราทันที .. "ชาต้องใช้เวลาแช่ประมาณ 4 นาทีนะครับ รบกวนลูกค้ารอสักครู่นะครับ" .. กลับกัน ถ้าคุณเปิดร้าน หรือเป็นบาริสต้า คุณก็บอกลูกค้าได้ และเชื่อว่าลูกค้าเข้าใจ
.
หรือ ... บางร้าน เราสั่งแล้วก็รับคิว รับเครื่องเรียกคิว .. แล้วเราก็ไปนั่งรอ ไปถ่ายรูป ไปชิล ร้านเหล่านี้ ก็ไม่เห็นลูกค้าจะรีบ หรือต้องด่านะ
.
#ยกเว้น .. ร้านข้างทาง ร้านที่ลูกค้าแน่นๆ ร้านที่ลูกค้ารีบซื้อรีบไป จะคาเฟ่ตามปั๊ม จะคีออส ฯลฯ ก็ต้องมีวิธีจัดการ คือ "การเตรียมชาไว้ก่อน" ไม่ว่าจะเป็นแช่ชาทิ้งไว้ในปริมาณที่กะว่าจะขายได้ในแต่ละช่วงหรือแต่ละวัน หรือ ผสมชากับส่วนผสมอื่นทิ้งไว้เลย แล้วนำมาเทให้ลูกค้าทันที (วิธีนี้ผมแนะนำบ่อยๆ คือชงทิ้งไว้ แล้วแช่ไว้ 1 คืน) อร่อยกว่าเยอะ
.
หรือ ... หลายร้าน ใช้วิธีชงผ่านเครื่องชงกาแฟ (อันนี้ไม่ค่อยอยากแนะนำ) มันเร็วจริง มันสะดวกจริง มันหอมจริง ลูกค้าอาจพอใจ รู้สึกได้ดื่มชาชงสดๆ ใหม่ๆ แต่.... มันไม่อร่อยเท่ากับชงไว้ก่อน และวิธีนี้ทำให้เครื่องชงกาแฟมีกลิ่นปนเปื้อน เวลาชงกาแฟ กาแฟก็จะเสียรสชาติ (ยกเว้นแยกเครื่องชง) และอีกอย่าง เครื่องชงกาแฟ ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ชงชา เพราะความละเอียดของใบชากับกาแฟบดมันไม่เท่ากัน แม้จะผ่านแรงดัน ก็ไม่สามารถดึงรสชาติที่ดีที่สุดออกมาได้
.
ทั้งหมดนี้ คือ คำตอบครับ ว่าทำไมต้องแช่ชา 4 นาที (หรือมากกว่า) และวิธีการบริหารจัดการ ซึ่งผมเองไม่เคยโดนลูกค้าด่าสักครั้ง และผมนำชาที่ผสมทุกอย่างแล้วแช่ตู้เย็นไว้ 1 คืนก่อนขายเสมอ มีแต่ลูกค้าชอบ ติดใจ ชมว่าอร่อย ..ลูกศิษย์ที่มาเรียนกับผม ก็นำสูตรไปทำตาม ขายดิบขายดี
.
อ่านอย่างนี้แล้ว คงหายสงสัย และ #ไม่กลัวลูกค้าด่า แล้วนะครับ
ยกเว้นคนที่ไม่เคยลอง และคิดไปเองเท่านั้นแหละ #จากใจ #อร่อยกับบอย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น